การเลี้ยงปลาในกระชัง หมายถึง การเลี้ยงปลาในภาชนะกักขัง ตั้งแต่ลูกปลาไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ น้ำสามารถถ่ายเทได้รอบด้านของภาชนะกักขัง
การเลี้ยงปลาแบบนี้สามารถดำเนินการได้ในแหล่งน้ำทั่วไปในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ แม้แต่ในบ่อที่ขุดแร่ ซึ่งมีน้ำขัง หรือแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยตอไม้ก็ใช้ได้ การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมทั้งทางเศรษฐกิจ และการปฏิบัติ นอกจากนั้น วิธีนี้อาจจะนำไปใช้ในแหล่งน้ำกร่อย หรือในทะเลก็ได้ การเลี้ยงปลาในกระชังสามารถปล่อยปลาได้หนาแน่น การให้อาหารสมทบที่สมดุลจะให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตสูงในระยะเวลาอันสั้น
ส่วนประกอบอย่างอื่นของตัวกระชังก็คือ
๑. ทุ่นสำหรับลอยกระชัง ชนิดที่ลอยผิวน้ำ ประกอบด้วยทุ่นโลหะหรือพลาสติก หรือท่อพีวีซี (PVC) ปิดหัวท้าย
๒. ฝาปิด ฝาปิดส่วนบนจะช่วยป้องกันศัตรู โดยเฉพาะพวกนก ป้องกันสาหร่ายเกาะตัวกระชัง และป้องกันขโมย และบางโอกาสทำให้ปลาไม่ตื่นตกใจ กินอาหารดีขึ้น ฝาปิด อาจทำด้วยอวน ไม้หรือตาข่ายโลหะ และผักตบชวา
๓. ที่ให้อาหาร ควรจะต้องมี มิฉะนั้นจะสูญหาย ที่ให้อาหารอาจเป็นแป้นสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ 1 ตารางเมตร หรือถ้าให้อาหารลอยก็ควรมีกรอบป้องกันอาหารไหลตามน้ำ
รูปร่างลักษณะของกระชัง ส่วนใหญ่มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า บางแห่งสร้างรูปกลมหรือหกเหลี่ยม ขนาดของกระชังมีปริมาตร ตั้งแต่ 1-100 ลูกบาศก์เมตร ขนาดเล็ก 0.7-10 ลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทดลองแต่ที่ทำเป็นการค้า เช่น ในอินโดนีเซีย อาจมีขนาดถึง 16-150 ลูกบาศก์เมตร การเลี้ยงปลาในกระชังไม่ควรจะทำกระชังขนาดใหญ่ เพราะมีข้อเสียหาย และความไม่สะดวกหลายประการในการจัดการ ขนาดกระชังที่เหมาะกับการเลี้ยงปลา ควรมีขนาดความจุ 20 ลูกบาศก์เมตร
ปลาน้ำจืดที่มีความต้านทานที่เหมาะจะเลี้ยงในกระชังมีอยู่ ๕ ครอบครัว คือ
- ไซพรินิดี (Cyprinidae) ได้แก่ ปลาไน
- ซิลูริดี (Siluridae) ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ
- คลาริไอดี (Claridae) ได้แก่ ปลาดุก
- โอฟิเซฟาลิดี (Ophicephalidae) ได้แก่ ปลาช่อน และ
- ซิคลิดี (Cichlidae) ได้แก่ ปลาในสกุลตีลาเบีย ชนิดต่าง ๆ เช่น ปลานิล

การเลี้ยงปลาในกระชัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น